ศูนย์อาชีวอนามัย

ศูนย์อาชีวอนามัย – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
Occupational Health Service – CH 9 Airport Hospital

เนื่องด้วยสุขภาพของพนักงานมีความสำคัญต่อทุกองค์กร เราจึงพร้อมให้บริการด้านอาชีวอนามัย อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานสากลด้วยทีมงานมืออาชีพ

อาชีวอนามัย เป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรถภาพและการจัดการ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพ สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปลอดโรค ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีสภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน

ในการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ปัจจุบันหลายบริษัทให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพพนักงานใหม่ เพื่อยืนยันความพร้อมสำหรับการเริ่มงานในบริษัทมากขึ้น บริษัทย่อมต้องการพนักงานที่มีสุขภาพสมบูรณ์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยปราศจากปัญหาสุขภาพที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานในบริษัท ซึ่งรายการตรวจสุขภาพ จะแตกต่างไปตามบริบทงานของแต่ละบริษัทและแต่ละแผนก การคัดเลือกรายการตรวจจึงจำเป็นต้องเหมาะสมกับพนักงานแต่ละรายมากที่สุดตามความเสี่ยงของงานที่ทำ โดยทุกการตรวจสุขภาพจะเริ่มจาก

  1. การซักประวัติและตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical Examination) เป็นการตรวจคัดกรองโดยการซักประวัติข้อมูลเบื้องต้นโดยแพทย์สอบถามความเสี่ยงเรื่องด้านสุขภาพ เช่น ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร โรคประจำตัว การผ่าตัด สูบบุหรี่/ดื่มสุรา การรับประทานยาประจำ ประวัติในครอบครัว และการวัดสัญญาณชีพ
  2. การตรวจตามรายการตรวจที่บริษัทต้องการ ขึ้นอยู่กับบริษัทว่าต้องการแบบไหน รายการตรวจสุขภาพที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้ มีดังนี้
    1. CBC (Complete Blood Count) : ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นการคัดกรองหาความผิดปกติของ เกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และภาวะโลหิตจาง
    2. ABO Group : การตรวจหมู่เลือด มีประโยชน์ หากท่านทราบว่า เป็นหมู่เลือดที่หาลำบาก และมีกรณีผ่าตัด จะสามารถจัดเตรียมเลือดให้เพียงพอไว้ได้ก่อน ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
    3. HBsAg : การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อค้นหาโรคติดต่อได้ทันท่วงที เป็นการป้องกันการติดต่อไปสู่เพื่อนร่วมงาน จากการทำงานร่วมกัน โรคตับอักเสบบีนั้นสามารถรักษาและป้องกันได้
    4. Anti-HIV : ตรวจการติดเชื้อเอช ไอ วี จะต้องเซ็นต์ใบยินยอมในการตรวจหาเชื้อเอช ไอ วี ตรวจเพื่อคัดกรองและลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่น หากเราพบเชื้อจะได้รักษาทัน
    5. Urinalysis : การตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบ ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไต และระบบปัสสาวะของผู้ตรวจ
    6. Amphetamine : การตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน ว่าเกี่ยวข้องกับสารเสพติดหรือไม่
    7. Stool Examination : การตรวจอุจจาระทั่วไป เพื่อหาไข่พยาธิ เหมาะสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
    8. เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูความผิดปกติของปอด หัวใจ หรือระบบหลอดเลือดหัวใจ ช่วยคัดกรองโรคตระบบทางเดินหายใจได้ เช่นวัณโรคปอด
    9. การมองเห็น (Visual Acuity) สามารถทดสอบได้โดย Snellen’s chart ผู้ถูกทดสอบ ต้องยืนห่างจาก chart 6 เมตร และทำการทดสอบโดบปิดตาทีละข้างเพื่ออ่าน การมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงาน เพราะการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ของสายตา จะทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ
    10. การตรวจตาบอดสี : Color Blindness Test โดยใช้ Ishihara ทดสอบ การมองเห็นสีชัดเจน มีความจำเป็นสำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสี
    11. การตรวจสายตาอาชีวอนามัย : Vision Screener  เป็นเครื่องมือการคัดกรองความผิดปกติของสายตาได้หลายอย่าง ทั้งการมองเห็นภาพชัดเจน การมองเห็นระยะใกล้และไกล การมองเห็นภาพสี ภาพ3มิติ ภาวะตาเข และลานสายตา ซึ่งบางบริษัทจะเลือกใช้ให้เหมาะกับงานทางอาชีวอนามัย
    12. การตรวจการได้ยิน : Audiogram เป็นการตรวจวัดความสามารถในการได้ยินของหูทั้ง 2 ข้าง ด้วยเครื่องวัด เป็นการประเมินการสูญเสียการได้ยินของผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และใช้ข้อมูลในการวางแผนควบคุมและป้องกันการสูญเสียการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน ในการจัดคนทำงานให้เหมาะสมกับสภาพงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

การเตรียมตัวเพื่อตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน

  1. เตรียมบัตรประชาชนตัวจริง /ใบขับขี่ เพื่อยืนยันตัวในการเข้ารับบริการ
  2. เตรียมใบส่งตัว ในกรณีที่บริษัทมีการติดต่อประสานงานทำสัญญาการตรวจสุขภาพร่วมกับทางโรงพยาบาล
  3. กรณีมีบัตรแพ้ยา/โรคประจำตัว/การทานยาประจำ/สงสัยตั้งครรภ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ
  4. กรณีมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แนะนำให้งดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง และหากมีการตรวจระดับไขมันในเส้นเลือด แนะนำให้งดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 12 ชั่วโมง จนกว่าจะได้รับการตรวจ (จิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
  5. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจสุขภาพ
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า6 ชั่วโมง และไม่นอนดึกเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  7. ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย เพื่อจะดวกต่อการเจาะเลือด
  8. สำหรับสุภาพสตรี ที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ไม่ครวรตรวจก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
  9. สำหรับโปรแกรมที่มีการตรวจปัสสาวะ วิธีการเก็บคือ ปัสสาวะช่วงแรกทิ้งเล็กน้อย แล้วเก็บปัสสาวะช่วงกลาง

การให้บริการตรวจสุขภาพทางอาชีวอนามัย มีโปรแกรมการตรวจดังนี้

  1. ใบรับรองแพทย์ 5 โรค : เป็นการการันตีสุขภาพของเราจากทางโรงพยาบาลว่า มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แพทย์จะทำการซักประวัติทั่วไป ไม่มีรายการตรวจเพิ่มเติม เพื่อขอรับรองว่า บุคคลดังกล่าว ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฎอาการของโรคจิต จิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน 5 โรคได้แก่
    1. โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
    2. วัณโรคในระยะอันตราย
    3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
    4. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
    5. โรคพิษสุราเรื้อรัง
  1. ใบรับรองแพทย์ 7 โรค : แพทย์จะทำการซักประวัติ และดูผลตรวจร่างกายเพิ่มเติม ในกรณีที่บริษัทแจ้งมาว่า ให้พนักงานตรวจอะไรบ้าง เช่น เจาะเลือด เก็บปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจสายตา เป็นต้น 7 โรค ได้แก่
    1. โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
    2. วัณโรคในระยะอันตราย
    3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
    4. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
    5. กามโรคในระยะที่3 หมายถึงระยะที่มีผื่น
    6. โรคพิษสุราเรื้อรัง
    7. โรคจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน
  1. ใบรับรองแพทย์ (สำหรับใบอนุญาตขับรถ) : เป็นไปตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภากำหนด มี2ส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเอง และส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องไม่มีโรคประจำตัว หรือสภาวะของโรคที่เห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และมีตรวจตาบอดสีเพิ่มเติม
  1. ตรวจ Work permit สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน AEC
    • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ พื้นฐาน 7 โรค (Physical Examination)
    • ตรวจวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูง ดัชนีมวลกาย (Vital signs,BMI)
    • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อคัดกรองวัณโรคปอด
    • ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิสระยะที่3 หมายถึงในระยะที่มีผื่น
  1. ตรวจ Work permit สำหรับกลุ่มประเทศทั่วไป
    • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ พื้นฐาน 7 โรค (Physical  Examination)
    • ตรวจวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูง ดัชนีมวลกาย (Vital signs,BMI)
    • ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิสระยะที่3 หมายถึงในระยะที่มีผื่น
  1. ตรวจการทำงานบนที่สูง
    • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ พื้นฐาน 7 โรค (Physical  Examination)
    • ตรวจวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูง ดัชนีมวลกาย (Vital signs,BMI)
    • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อคัดกรองวัณโรคปอด
    • ซักประวัติโรคลมชัก (Taking History of Epilepsy)
    • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
    • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
    • ตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อมือ ขา หลัง
  1. ตรวจการทำงานที่อับอากาศ
    • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ พื้นฐาน 7 โรค (Physical  Examination)
    • ตรวจวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูง ดัชนีมวลกาย (Vital signs,BMI)
    • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อคัดกรองวัณโรคปอด
    • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
    • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    • ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram)
    • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด (Lung function test)
    • ตรวจวัดสายตาสั้นยาว (Visual Acuity Test : VA)
    • ตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อหลัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ให้บริการทุกวัน 9:00 – 16:00 น.
โทร. 095-726-1428 หรือ 02-115-2111 ต่อ 1156

ติดต่อขอใบเสนอราคาภาคองค์กร ได้ที่เบอร์ 02-115-2111 ต่อ 2241