ผื่นที่มักเกิดในหน้าหนาว

เมื่อเข้าหน้าหนาว หลายๆ คนมักประสบปัญหาผิวแห้ง แตก จนเกิดอาการคัน ซึ่งอาการดังกล่าว  เรียกว่า ผื่นในฤดูหนาว ไม่ใช่ผื่นที่อันตราย แต่ต้องดูแลและบำรุงมากกว่าฤดูอื่นๆ

อาการของผื่นที่มักพบ

  1. มีอาการคัน
  2. ผิวหนังแห้งจะเป็นสะเก็ด
  3. เกิดเป็นแผลพุพอง
  4. ผิวมีอาการบวมแดงและเกิดการอักเสบ
  5. เป็นผื่นและเป็นรอยแดงรอบๆผื่น

หากพบอาการดังข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง และนอกจากนั้นยังต้องดูแลผิวเป็นพิเศษด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ไม่อาบน้ำอุ่นจัด เพราะความร้อนจะไปทำลายไขมันที่เคลือบปกป้องผิวด้านนอก ทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้น จึงควรอาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการขัดถูแรงๆ
  2. ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำให้เหมาะสมกับสภาพผิว ควรเลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ อยู่ในระดับ pH 5.5เพราะจะช่วยกระตุ้นการสร้างสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Natural moisturizing factor) สร้างฟิล์มคุ้มครองผิวตามธรรมชาติ (Hydro-lipid film) จะช่วยปกป้องผิวหนังจากมลภาวะภายนอก และไม่ให้สูญเสียความชุ่มชื้น
  3. บำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารต่อไปนี้ เช่น กลีเซอรีน (Glycerine) ซอบิทอล (Sorbitol) เซรามายด์ (Ceramide) ลาโนลิน (Lanolin) เชียบัตเตอร์ (Shea butter) ปิโตรลาทัม (Petrolatum) น้ำมันมะกอก (Olive oil) และโจโจ้บาออยล์ (Jojoba oil) เป็นต้น โดยควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลังอาบน้ำทันที  และควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ กรดเรตินอยด์ และแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้
  4. ทาผลิตภัณฑ์กันแดด แม้ในหน้าหนาวแสงแดดจะไม่ร้อนเท่าฤดูอื่น แต่การแผ่รังสี UVก็ยังมีมากอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา10.00 – 16.00 น. และทาผลิตภัณฑ์กันแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตเอ และบี ในปริมาณที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ก่อนออกแดดประมาณ 30 นาทีขึ้นไป
  5. ใส่เสื้อผ้าที่นุ่ม เพื่อลดการระคายเคืองต่อผิว ควรเลือกเสื้อผ้าที่ไม่แข็งกระด้าง และควรหลีกเลี่ยงผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์
  6. ดื่มน้ำเยอะๆ หน้าหนาว ผิวจะสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือดื่มมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดีขึ้น

หากดูแลตัวเองตามคำแนะนำแล้ว อาการผื่นคันจากผิวแห้งมาก หรือผื่นโรคผิวหนังเดิมเห่อมากขึ้น ให้กลับไปปรึกษาแพทย์อีกครั้ง เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม